รายละเอียดกิจกรรม

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า 200,000 ล้านบาท/ปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ (87%) อยู่ในเขตภาคใต้ซึ่งมีสภาพอากาศ ปริมาณและการกระจายตัวของฝน ที่เอื้อต่อการปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ ทำให้เขตภาคใต้เป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันเกษตรกรอีกจำนวนมากของไทยยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้ขาดความรู้และแนวทางการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอยู่มากในทุกด้าน จ.ตรัง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ปลูกปาล์มน้ำมันเกือบ 300,000 ไร่ แต่ผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ยของจังหวัดอยู่ในระดับต่ำเพียง 2.7 ตัน/ไร่/ปี ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตสูง ไม่คุ้มค่า

กิจกรรมนี้ จึงต้องการส่งมอบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่ได้จากงานวิจัยปาล์มน้ำมันของศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำร่วมกับ บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) (CPI) มาอย่างต่อเนื่องนานถึง 30 ปี และประสบความสำเร็จสูงในการช่วยยกระดับผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรและภาคผลิตเอกชนในพื้นที่ภาคใต้หลายราย โดยจัดฝึกอบรม (train the trainer) ให้เกษตรกรผู้นำชุมชน เกษตรกรสมาชิกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใกล้เคียง ตัวแทนนักวิชาการของหน่วยงานราชการ ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และภาคผลิตเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวม 1 ครั้งใน จ.ตรัง โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรมในพื้นที่ 70 คน และที่ติดตามรับชมวีดีทัศน์ที่เผยแพร่ทาง Youtube ช่อง CAB KU Channel เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 300 คนจากทั่วภูมิภาคทั่วโลก (เป้าหมายปีที่ 1 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 - เดือนกรกฎาคม 2567)

การฝึกอบรมนี้ อาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายของศูนย์กลางด้านความรู้แห่งนี้ ได้แก่

  1. อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยด้านชีวฟิสิกส์ของปาล์มน้ำมัน ร่วมกับเกษตรกรและภาคผลิตเอกชน
  2. ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการธาตุอาหารและการใช้ปุ๋ย
  3. พนักงานฝ่ายวิชาการ ของ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ และมีประสบการณ์สูงในการจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ให้เกษตรกร ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร
  4. สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง
  5. เกษตรกรผู้นำชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่
  6. สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด

ความร่วมมือนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการให้ข้อมูลสถานภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการสวนของเกษตรกร การกำหนดตัววิทยากรและเนื้อหาการบรรยายให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกเกษตรกร ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมจากสมาชิกกลุ่ม คัดเลือกตัวแทนนักวิชาการในแต่ละอำเภอของจังหวัด ที่พร้อมเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ เปิดรับการนำ วทน. มาใช้ในการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มที่จะสามารถฝึกสอน พัฒนาทักษะ และปรับปรุงวิธีการจัดการสวนของตนเองเป็นตัวอย่างและเป็นที่พึ่งทางด้านวิชาการให้กับเกษตรกรรายอื่นในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ได้เห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ ของการนำ วทน. มาใช้ในการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน และทำตามได้โดยง่าย เป็นการส่งเสริมการสร้างเกษตรกร วทน. ประจำพื้นที่ (train the trainer) ให้สามารถถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรรายอื่นในชุมชนได้

หลังการฝึกอบรม คณะทำงานจะมีการลงพื้นที่ติดตามเกษตรกรที่ร่วมกิจกรรม เพื่อประเมินผลการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีฯ ที่ได้ถ่ายทอดให้ไปปฏิบัติ

ผลการประเมินจะนำไปใช้พิจารณาการดำเนินกิจกรรมในปีงบประมาณถัดไป พร้อมส่งเสริม/สนับสนุน/ผลักดัน เกษตรกรที่ปฏิบัติตามคำแนะนำครบทุกด้าน ให้เป็นเกษตรกร วทน. ประจำพื้นที่ สามารถขยายผลในการให้ความรู้ ให้คำแนะนำการจัดการสวน สู่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรในและนอกพื้นที่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรของกรมวิชาการเกษตร สามารถขยายผลการใช้ประโยชน์จาก วทน. ที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมนี้ สู่เกษตรกรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ สามารถยกระดับผลผลิตปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ระดับครัวเรือนถึงระดับประเทศ เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้เพิ่มจากการยกระดับผลผลิตปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตที่คุ้มค่า

ความสำเร็จ ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม จะทำให้ศูนย์กลางด้านความรู้นี้เป็นที่ยอมรับ ในวงกว้าง เป็นเสาหลักด้านวิชาการ ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรทันสมัยให้กับประเทศ และเป็นต้นแบบความสำเร็จในการนำ วทน. มาใช้ในการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งสามารถขยายผลไปในภูมิภาคอื่นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เช่น ภาคตะวันออก ได้

วัตถุประสงค์

  1. ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกษตรทันสมัย ด้านการจัดการปัจจัยการผลิตพืชที่แม่นยำตรงตามความต้องการของปาล์มน้ำมัน ได้แก่ การจัดการธาตุอาหารและการใช้ปุ๋ย ความต้องการแสงแดด การกำหนดการใช้น้ำของพืช การเตรียมแปลงปลูก การสร้างกองทาง การเก็บเกี่ยวผลผลิต ฯลฯ
  2. ส่งเสริมความสมบูรณ์ของต้นปาล์มน้ำมัน ให้มีศักยภาพในการให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามเป้าหมาย
  3. ระบุสวนที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นสวนปาล์มน้ำมันต้นแบบ และส่งเสริม/สนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้การนำ วทน. มาใช้ในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันประจำพื้นที่
  4. ส่งเสริม/สนับสนุน การสร้างเกษตรกร ววน. ต้นแบบประจำพื้นที่ (train the trainer) ให้มีความรู้ทางวิชาการ มีทักษะและเทคนิคในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่ถูกต้อง แม่นยำ และเป็นปัจจุบัน มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นผู้นำชุมชน เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำวิธีการจัดการสวนแก่เกษตรกรรายอื่นในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างถูกต้องและทำตามได้โดยง่าย

กรอบการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

หัวหน้า กิจกรรมที่ 3


  • ชื่อ - นามสกุล :ดร.พรชัย ไพบูลย์
  • สังกัด : ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สาขาที่เชี่ยวชาญ : ชีวฟิสิกส์และสภาพแวดล้อมของพืช ได้แก่ กระบวนการสังเคราะห์แสงของใบพืช กระบวนการคายน้ำของใบพืช การไหลของสารในระบบต่อเนื่องดิน-พืช-อากาศ บทบาทของสภาพอากาศระดับแปลง (microclimate) ต่อพืชปลูก
  • Email : pornchai.p@ku.ac.th