รายละเอียดกิจกรรม

นักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยด้านกระบวนการแลกเปลี่ยนแก๊สของใบพืช ได้แก่ กระบวนสังเคราะห์แสง (photosynthesis) กระบวนการคายน้ำ (transpiration) กระบวนการหายใจ (respiration) ของใบพืช เป็นการศึกษาที่ทำให้เข้าใจกระบวนการทำงาน และยุทธศาสตร์ที่พืชแต่ละชนิดใช้เพื่อการเติบโตของต้น และสร้างผลผลิตของพืช มานานกว่า 20 ปีในพืชเศรษฐกิจกว่า 20 ชนิด ทั้งในกลุ่มไม้ผล ได้แก่ ส้มเขียวหวาน มะม่วง ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา มังคุด สะละ ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด ในกลุ่มพืชไร่เศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าวไวแสง (ขาวดอกมะลิ 105) ข้าวไม่ไวแสง (ปทุมธานี1 กข41) ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา กลุ่มพืชผัก ได้แก่ คะน้า พริก มะเขือเทศ และไม้ดอก ได้แก่ กล้วยไม้ หน้าวัว

การวัดกระบวนการแลกเปลี่ยนแก๊สของใบพืช นักวิจัยจำเป็นต้องรู้หลักการ วิธีการ เทคนิคการวัด และมีเครื่องวัดอัตราสังเคราะห์แสงของใบพืชแบบพกพา (Portable photosynthesis system) ซึ่งเป็นครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศในการวัดอัตราแลกเปลี่ยนแก๊สของใบพืชได้อย่างละเอียด รวดเร็ว และแม่นยำในระดับโมเลกุลของแก๊ส จึงเป็นครุภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงหลักล้านบาท มีความซับซ้อน บอบบาง มีขั้นตอนการประกอบ การตรวจเทียบก่อนการใช้งานในแต่ละวัน (daily calibration) ลำดับการตรวจวัด การบันทึกค่า และการบำรุงรักษาครุภัณฑ์หลังการใช้งาน ที่จำเพาะหลายขั้นตอน

กิจกรรมนี้ ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนเทคนิคการวัด ประสบการณ์ทำงานวิจัย โดยจัดฝึกอบรม (train the trainer) ให้นิสิต นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย จากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าใจในหลักการ เรียนรู้วิธีการประกอบ การเตรียมความพร้อมของครุภัณฑ์ก่อนใช้งาน เทคนิคการวัดกระบวนสังเคราะห์แสง (photosynthesis) กระบวนการคายน้ำ (transpiration) และกระบวนการหายใจ (respiration) ของใบพืชเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษา เปรียบเทียบอ้างอิงกับผลการศึกษาอื่นที่รายงานในวารสารระดับชาติและนานาชาติได้ รวมถึงเรียนรู้วิธีการดูแลรักษาครุภัณฑ์หลังการใช้งานได้อย่างถูกต้อง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานในครั้งถัดไป และช่วยให้ครุภัณฑ์มีอายุการใช้งานนาน เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่าการลงทุน โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรม รวม 20 คน (เป้าหมายปีที่ 1 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 - เดือนกรกฎาคม 2567)

การฝึกอบรมนี้ อาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายของศูนย์กลางด้านความรู้แห่งนี้ ได้แก่

  1. อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยด้านกระบวนการแลกเปลี่ยนแก๊สของใบพืช
  2. อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยด้านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร
  3. พนักงานบริษัท แล็บควิป (ประเทศไทย) จำกัด
  4. เครือข่ายมหาวิทยาลัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร

วัตถุประสงค์

  1. ถ่ายทอดหลักการและวิธีการใช้เครื่องวัดอัตราสังเคราะห์แสงของใบพืชเบื้องต้นเพื่อใช้ในงานวิจัย
  2. Upskill Reskill การทำงานวิจัยด้านชีวฟิสิกส์ของพืชให้คณะนิสิต นักศึกษา อาจารย์และนักวิจัย
  3. เสริมสร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ในระดับแนวหน้าของประเทศ และของภูมิภาคอาเซียน ที่ส่งเสริมการนำ วทน. ไปใช้ประโยชน์ ได้อย่างยั่งยืน

กรอบการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

หัวหน้า กิจกรรมที่ 4


  • ชื่อ - นามสกุล : ดร. พรชัย ไพบูลย์
  • สังกัด : ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สาขาที่เชี่ยวชาญ : ชีวฟิสิกส์และสภาพแวดล้อมของพืช ได้แก่ กระบวนการสังเคราะห์แสงของใบพืช กระบวนการคายน้ำของใบพืช การไหลของสารในระบบต่อเนื่องดิน-พืช-อากาศ บทบาทของสภาพอากาศระดับแปลง (microclimate) ต่อพืชปลูก
  • Email : pornchai.p@ku.ac.th