รายละเอียดกิจกรรม

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้มีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ เพราะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัดการวิจัยแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์กับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ทำให้เกิดศาสตร์แขนงใหม่ของกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพที่เรียกว่า ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) คือการพัฒนาและประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ทำให้เข้าใจองค์ประกอบของจีโนม ความหลากหลายของพันธุกรรม และการศึกษาหน้าที่และการทำงานของยีน นำไปสู่การประยุกต์ใช้ที่หลากหลายสาขา ทั้งทางด้านการแพทย์ เช่น การตรวจโรคจากความผิดปกติของยีน การเกษตร เช่น การค้นหายีนที่สนใจทำให้พืชหรือสัตว์มีลักษณะที่ต้องการ ชีวสารสนเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาล สามารถดึงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศในการปรับปรุงพันธุ์พืช สามารถใช้ในการตรวจสอบพืชจำนวนมากๆ ทำให้สามารถหาเครื่องหมายโมเลกุลที่สนใจของพืชในลักษณะต่างๆ เช่น ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ทนโรคและแมลงเป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้เพื่อเป็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสาธารณะที่ได้จากศาสตร์สาขานี้ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายบนอินเตอร์เน็ต

การดำเนินกิจกรรมของโครงการ มุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวสารสนเทศเพื่อศึกษาจีโนมของสิ่งมีชีวิตเพื่อศึกษาความหลากหลายของประชากรโดยความร่วมมือของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านชีวสารสนเทศและพันธุศาสตร์ประชากร จาก 3 สถาบันการศึกษาในประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และ ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Wageningen University and Research ประเทศเนเธอแลนด์ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนได้แก่ บริษัท อาร์ไอเทคโนโลยี่ส์ จำกัด ในการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ในการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ในงานจัดฝึกอบรม เป็นทางเลือกให้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ การจัดฝึกอบรมนี้จะทำการจัดฝึกอบรมทั้งหมด 4 ครั้ง เป็นการจัดฝึกอบรมระดับนานาชาติ 1 ครั้ง ที่ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และระดับชาติ 3 ครั้ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงชลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยตั้งเป้าหมายในการถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยีแก่ นิสิต นักศึกษา นักวิจัย/วิชาการ จากภาครัฐบาลและเอกชน รวมถึงนักวิจัยอิสระที่มีความสนใจ จำนวน 105 คน นอกจากนี้จะมีการจัดทำสื่อวีดีทัศน์ทางวิชาการเผื่อแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ โดยคาดหวังเป้าหมายในการรับชมจำนวน 100 คน/views เนื้อหาการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนนี้จะมุ่งเน้นการใช้ชีวสารสนเทศในการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมม และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลำดับเบสที่แตกต่างกันในจีโนมของกลุ่มประชากรหนึ่งๆ ต่อลักษณะฟีโนไทป์ (GWAS; Genome-wide association studies) เพื่อให้ทราบบริเวณของดีเอ็นเอที่เกี่ยวข้องกับลักษณะฟีโนไทป์ที่สนใจนั้น ซึ่งสามารถศึกษาร่วมกับการศึกษาทางโอมิกส์ต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลของบริเวณดีเอ็นเอที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับ GWAS ยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นการฝึกอบรมความรู้ด้านนี้ให้กับนักวิจัย นักศึกษา อาจารย์ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับส่งต่อให้กับผู้สนใจต่อไป

วัตถุประสงค์

  • เข้าใจหลักการของการวิเคราะห์ข้อมูลลำดับนิวคลีโอไทด์ชนิด Next Generation Sequencing สำหรับงานวิจัยด้านเกษตร
  • สามารถใช้โปรแกรมทางชีวสารสนเทศในการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมเพื่อค้นหาความหลากหลายทางพันธุกรรม
  • สามารถใช้โปรแกรมทางชีวสารสนเทศในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของจีโนมและลักษณะปรากฏเพื่อพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อใช้ในการคัดเลือก


  • กรอบการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

    หัวหน้า กิจกรรมที่ 5


    • ชื่อ - นามสกุล : ดร. ภูมิพัฒน์ ทองอยู่
    • สังกัด : ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    • สาขาที่เชี่ยวชาญ : ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ลินุกซ์ การปรับปรุงพันธุ์พืช
    • Email : pumipat.tong@ku.th