โครงการสร้างงานและคนทางวิชาการด้านสรีรวิทยาของพืช

Project for the Strengthening of Activities and Capability-building in Plant Physiology Study

การเข้าใจกลไกการทำงานของพืชเป็นงานระดับพื้นฐาน ที่ต้องอาศัยการสร้างและสั่งสมข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งได้จากการทำงานศึกษาอย่างต่อเนื่องและอดทนโดยที่ข้อมูลในหลายส่วนไม่สามารถนำไปขยายผลได้ ในระยะเวลาสั้น ทำให้การศึกษาสรีรวิทยาของพืช เป็นงานพื้นฐานอีกงานหนึ่งที่หางบประมาณสนับสนุนในปัจจุบันได้ยาก วงการวิชาการยังมีขนาดเล็ก จึงไม่มีผลงานวิจัยและนักวิชาการเพียงพอที่จะร้อยงานกันให้ได้องค์ความรู้ที่ต่อเนื่องและมากพอสำหรับอธิบายกระบวนการภายในพืช เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาการผลิตพืชที่เกิดในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชสำคัญของประเทศไทยเองยังแทบไม่มีข้อมูลประจำตัวพืชสำหรับใช้งานได้จริง

 

วัตถุประสงค์

เพื่อให้งานศึกษาและการสร้างนักวิชาการด้านสรีรวิทยาของพืชมีแรงสนับสนุนมากขึ้น จึงได้จัดทำโครงการนี้ โดยมีจุดประสงค์ในการจัดหางบประมาณเพื่อกิจกรรมดังนี้

1. ให้งบสนับสนุนการศึกษาและการฝึกอบรมดูงาน แก่นักศึกษาและนักวิชาการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการศึกษาสรีรวิทยาของพืช
2. ให้อุปกรณ์และงบดำเนินงานเสริม เพื่อขยายและยกระดับคุณภาพของงานศึกษาสรีรวิทยาของพืช
3. ให้งบสนับสนุนการสร้างกลุ่มทำงาน ระบบเครือข่าย การแลกเปลี่ยนข้อมูล การพบปะระหว่างนักวิชาการ เพื่อให้เกิดและพัฒนานิสัยการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
4. ให้งบสนับสนุนงานศึกษาขนาดเล็ก งานทดสอบสมมติฐาน งบเตรียมงาน และงานเสริมต่างๆ ซึ่งมีเนื้องานไม่เพียงพอสำหรับของบจากแหล่งเงินปรกติได้
5. ให้งบเสริมสำหรับการทำรายงาน การเสนอผลงาน เพื่อเผยแพร่งานศึกษาสรีรวิทยาของพืช

 




แหล่งเงิน

ทางโครงการแสวงหาและเปิดรับแหล่งเงินสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ ไม่จำกัดรูปแบบ ทั้งจากภาคราชการ ภาคเอกชน เงินบริจาค* และเงินสมทบ

 

ระยะเวลาของโครงการ

ตั้งแต่ปี 2546-ปัจจุบัน

 

ผู้ดำเนินโครงการ

ศ.ดร. สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์, ดร. วินัย อุดขาว และ ดร. พรชัย ไพบูลย์ ศึกษาสรีรวิทยาของพืชที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  มีคณะทำงานศึกษา และวิจัยร่วมด้วยประมาณ 12 คน ขณะนี้ สอน วิจัย และให้คำปรึกษาเรื่องน้ำในระบบต่อเนื่องดิน-พืช-อากาศ และการแลกเปลี่ยนแก๊สของพืชแก่นิสิต นักวิจัย กลุ่มเกษตรกร และภาคผลิตเอกชน



*เงินบริจาคให้ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี